เอสเธอร์ 1:1-22, เอสเธอร์ 2:1-18 TNCV

เอสเธอร์ 1:1-22

พระนางวัชทีถูกปลด

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยของกษัตริย์เซอร์ซีส1:1 ภาษาฮีบรูว่าอาหะสุเอรัสเป็นอีกรูปหนึ่งของเซอร์ซีส ซึ่งเป็นชื่อเปอร์เซีย ทั้งในข้อนี้และตลอดพระธรรมเอสเธอร์ผู้ทรงปกครอง 127 มณฑลจากอินเดียถึงคูช1:1 คือ ตอนบนของลุ่มแม่น้ำไนล์ ครั้งนั้นกษัตริย์เซอร์ซีสทรงครองราชบัลลังก์ในป้อมเมืองสุสา และในปีที่สามแห่งรัชกาลของพระองค์ พระองค์ทรงจัดงานเลี้ยงใหญ่ประทานแก่เหล่าขุนนางและข้าราชบริพาร บรรดาแม่ทัพนายกองแห่งมีเดียและเปอร์เซีย เจ้านายและขุนนางจากทุกมณฑลล้วนมาเข้าเฝ้า

กษัตริย์ทรงแสดงความมั่งคั่งของราชอาณาจักร พระเกียรติ บารมี และความโอ่อ่าตระการตลอด 180 วัน หลังจากนั้นกษัตริย์ทรงจัดงานเลี้ยงเจ็ดวันที่ลานอุทยานของพระราชวังสำหรับทุกคนที่อยู่ในป้อมเมืองสุสา ตั้งแต่ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดลงมาถึงผู้น้อยที่สุด ในอุทยานมีม่านลินินสีขาวและสีน้ำเงินร้อยด้วยเชือกลินินสีขาวและสีม่วงเข้ากับห่วงเงินบนเสาหินอ่อน มีตั่งทองคำและเงินตั้งอยู่ตามบาทวิถีซึ่งฝังหินแดง หินอ่อน หอยมุก และพลอยราคาแพงอื่นๆ เหล้าองุ่นที่นำออกมาแจกจ่ายบรรจุในภาชนะทองคำ แต่ละใบมีรูปทรงและลวดลายไม่ซ้ำกัน กษัตริย์ทรงประทานเหล้าองุ่นหลวงให้ดื่มอย่างเหลือเฟือ แขกแต่ละคนดื่มได้ตามใจชอบ เพราะพระองค์ทรงบัญชาพนักงานฝ่ายเหล้าองุ่นให้นำมาบริการตามความพอใจของทุกคน

พระราชินีวัชทีก็ทรงจัดงานเลี้ยงสำหรับเหล่าสตรีในราชสำนักของกษัตริย์เซอร์ซีสด้วย

ในวันที่เจ็ดเมื่อกษัตริย์เซอร์ซีสสำราญพระทัยด้วยเหล้าองุ่นก็ตรัสเรียกขันทีประจำพระองค์ทั้งเจ็ดคือ เมหุมาน บิสธา ฮารโบนา บิกธา อาบักธา เศธาร์ และคารคัส ให้ไปทูลเชิญพระนางวัชทีสวมมงกุฎมาเข้าเฝ้าพระองค์ เพื่อให้ประชาชนและเหล่าขุนนางได้ยลโฉมเพราะพระนางทรงพระสิริโฉมยิ่งนัก แต่เมื่อคนเหล่านี้ไปทูลเชิญตามพระบัญชาของกษัตริย์ พระนางไม่ยอมมา กษัตริย์จึงทรงพระพิโรธยิ่งนัก

เนื่องจากเป็นประเพณีที่กษัตริย์จะต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายและความยุติธรรม พระองค์จึงตรัสกับเหล่านักปราชญ์ผู้เข้าใจยุคสมัย ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกษัตริย์ที่สุดได้แก่ คารเชนา เชธาร์ อัดมาธา ทารชิช เมเรส มารเสนา และเมมูคาน ขุนนางทั้งเจ็ดแห่งมีเดียและเปอร์เซีย ซึ่งเป็นผู้ที่มีสิทธิพิเศษในการเข้าเฝ้ากษัตริย์และเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในราชอาณาจักร

พระองค์ตรัสถามว่า “กฎหมายระบุให้ทำอย่างไรบ้างกับพระนางวัชทีซึ่งไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของกษัตริย์เซอร์ซีสตามที่ให้ขันทีไปเชิญ?”

แล้วเมมูคานทูลตอบต่อหน้ากษัตริย์และต่อหน้าเหล่าขุนนางว่า “พระนางวัชทีไม่ได้ทรงทำผิดต่อองค์กษัตริย์เท่านั้น แต่ต่อขุนนางและประชาราษฎร์ทั้งปวงในทุกมณฑลของกษัตริย์เซอร์ซีสด้วย เพราะหญิงทั้งปวงจะรู้ถึงการกระทำของพระนาง และจะพากันดูแคลนสามี และพูดกันว่า ‘กษัตริย์เซอร์ซีสทรงบัญชาให้พระราชินีวัชทีไปเข้าเฝ้า แต่พระนางไม่ยอมไป’ ในวันนี้บรรดาหญิงสูงศักดิ์แห่งมีเดียและเปอร์เซียซึ่งได้ยินการกระทำของพระนางวัชที ก็จะปฏิบัติต่อขุนนางของกษัตริย์ในทำนองเดียวกัน จะทำให้ขาดความเคารพและเกิดความขัดแย้งไม่มีที่สิ้นสุด

“ฉะนั้นหากฝ่าพระบาททรงดำริชอบ ขอให้ร่างพระราชโองการเป็นกฎหมายของชาวมีเดียและเปอร์เซียซึ่งจะล้มเลิกไม่ได้ ห้ามพระนางวัชทีเข้าเฝ้าฝ่าพระบาทอีก ทั้งให้ฝ่าพระบาทประทานตำแหน่งพระราชินีแก่คนอื่นซึ่งดีกว่าพระนาง เมื่อประกาศพระราชโองการนี้ทั่วราชอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลของฝ่าพระบาทแล้ว หญิงทั้งปวงจะเคารพสามี ตั้งแต่ผู้น้อยที่สุดไปจนถึงผู้ใหญ่ที่สุด”

กษัตริย์และขุนนางทั้งปวงเห็นชอบในคำทูลนี้ ฉะนั้นกษัตริย์ทรงทำตามที่เมมูคานทูลเสนอ และมีพระราชสาส์นออกไปยังทุกมณฑลทั่วราชอาณาจักร เป็นภาษาถิ่นครบทุกภาษา ประกาศว่าผู้ชายทุกคนเป็นผู้ปกครองเหนือครัวเรือนของตน

Read More of เอสเธอร์ 1

เอสเธอร์ 2:1-18

เอสเธอร์ได้รับเลือกเป็นราชินี

ต่อมาเมื่อพระพิโรธของกษัตริย์เซอร์ซีสสงบลงแล้ว พระองค์ทรงคิดถึงพระนางวัชที ตลอดจนสิ่งที่พระนางได้ทำและพระราชโองการของพระองค์เองเกี่ยวกับพระนาง แล้วข้าราชบริพารส่วนพระองค์จึงทูลเสนอว่า “ควรเฟ้นหาหญิงสาวพรหมจารีผู้งดงามมาถวายกษัตริย์ ขอทรงตั้งเจ้าพนักงานในแต่ละมณฑลของอาณาจักรของพระองค์ให้เฟ้นหาตัวหญิงสาวโฉมงามทั้งหมด และนำตัวมายังฮาเร็มในป้อมเมืองสุสา ให้อยู่ในความดูแลของเฮกัยขันทีของกษัตริย์ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับเหล่าสตรี และให้พวกนางรับการประทินโฉม หลังจากนั้นให้สตรีซึ่งฝ่าพระบาทโปรดปรานเป็นราชินีแทนพระนางวัชที” กษัตริย์ก็พอพระทัยความคิดนี้และให้ลงมือปฏิบัติ

ครั้งนั้นในป้อมเมืองสุสา มีชายชาวยิวจากเผ่าเบนยามินคนหนึ่งชื่อโมรเดคัย ผู้เป็นบุตรของยาอีร์ ผู้เป็นบุตรของชิเมอี ผู้เป็นบุตรของคีช เขาถูกจับมาเป็นเชลยเมื่อครั้งกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์แห่งบาบิโลนทรงกวาดต้อนเชลยมาจากเยรูซาเล็มพร้อมกษัตริย์เยโฮยาคีน2:6 ภาษาฮีบรูว่าเยโคนิยาห์เป็นอีกรูปหนึ่งของเยโฮยาคีนแห่งยูดาห์ โมรเดคัยมีลูกพี่ลูกน้องเป็นหญิงสาวรูปโฉมงามน่ารักชื่อ ฮาดัสสาห์หรือเอสเธอร์ เขาเลี้ยงดูนางเป็นบุตรสาวบุญธรรมหลังจากที่บิดามารดาของนางสิ้นชีวิต

เนื่องด้วยพระราชโองการของกษัตริย์ หญิงสาวหลายคนจึงถูกนำมาอยู่ที่ป้อมเมืองสุสาในความดูแลของเฮกัย และเอสเธอร์ก็ถูกนำมาที่พระราชวังของกษัตริย์และอยู่ในความดูแลของเฮกัยผู้ดูแลฮาเร็มเช่นกัน เฮกัยเอ็นดูและพอใจเอสเธอร์มาก เขาจึงรีบจัดหาเครื่องประทินโฉมและอาหารพิเศษให้นางทันที ทั้งจัดเด็กหญิงเจ็ดคนซึ่งคัดเลือกจากพระราชวังมาคอยรับใช้นาง และให้นางกับสาวใช้ย้ายไปอยู่ที่ที่ดีที่สุดในฮาเร็ม

เอสเธอร์ไม่ได้เปิดเผยเรื่องเชื้อชาติและภูมิหลังครอบครัวของนางเพราะโมรเดคัยสั่งห้ามไว้ ทุกวันโมรเดคัยจะเดินวนเวียนแถวๆ ลานฮาเร็ม เพื่อถามข่าวคราวและความเป็นไปของเอสเธอร์

ก่อนถึงเวรที่หญิงสาวแต่ละคนเข้าเฝ้ากษัตริย์เซอร์ซีส พวกนางจะต้องรับการประทินโฉมครบสิบสองเดือนตามที่กำหนดไว้คือ หกเดือนแรกบำรุงด้วยน้ำมันมดยอบ จากนั้นบำรุงด้วยน้ำหอมและเครื่องประทินผิวอีกหกเดือน เมื่อถึงรอบที่แต่ละคนจะเข้าเฝ้ากษัตริย์ จะขอนำอะไรจากฮาเร็มไปพระราชวังด้วยก็ได้ ในเวลาเย็นนางจะเข้าวัง และเช้าวันรุ่งขึ้นจะกลับไปอยู่อีกตำหนักหนึ่งในฮาเร็มซึ่งอยู่ในความดูแลของชาอัชกาสขันทีของกษัตริย์ผู้คอยดูแลพวกสนม นางจะไม่ได้เฝ้ากษัตริย์อีกเว้นเสียแต่ว่าพระองค์ทรงโปรดและเอ่ยนามเรียกตัวนางมาเข้าเฝ้า

เมื่อถึงรอบของเอสเธอร์ที่จะเข้าเฝ้ากษัตริย์ (หญิงสาวที่โมรเดคัยรับเป็นบุตรบุญธรรม นางเป็นบุตรสาวของอาบีฮายิล ผู้เป็นลุงของโมรเดคัย) นางไม่ได้ขอสิ่งใดนอกจากที่ขันทีเฮกัยผู้ดูแลฮาเร็มแนะนำ และทุกคนที่เห็นเอสเธอร์ก็ชื่นชอบนาง เอสเธอร์ถูกนำมาเข้าเฝ้ากษัตริย์เซอร์ซีสในพระราชวังเมื่อเดือนเทเบท ซึ่งเป็นเดือนที่สิบปีที่เจ็ดแห่งรัชกาล

กษัตริย์พอพระทัยเอสเธอร์มากกว่าหญิงอื่นทั้งปวง พระองค์โปรดปรานและพอพระทัยนางมากกว่าหญิงพรหมจารีคนอื่นๆ จึงสวมมงกุฎให้และตั้งนางเป็นราชินีแทนพระนางวัชที และกษัตริย์ทรงจัดงานเลี้ยงใหญ่ประทานแก่ขุนนางและข้าราชบริพารทั้งปวงเพื่อเอสเธอร์ พระองค์ทรงประกาศวันหยุดทั่วทุกมณฑล และประทานของขวัญด้วยพระทัยกว้างขวาง

Read More of เอสเธอร์ 2